การเขียนแบบก่อสร้างนั้นเป็นแบบที่เขียนขึ้นโดยมีจุดประสงค์ให้สามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการก่อสร้างได้ตรงตามรูปแบบที่กำหนดไว้ทุกประการ รวมไปถึงการนำไปงานใช้งานอื่นๆได้แก่ การยื่นขออนุญาตต่อทางราชการ, การประมาณราคาก่อสร้าง, การประกวดราคา, เป็นเอกสารสำคัญที่ใช้ในการทำงานร่วมกัน การทำความเข้าใจให้ตรงกันระหว่างผู้เกี่ยวข้องหลายๆฝ่าย อาทิ เจ้าของโครงการ, ผู้ออกแบบ และวิศวกรด้านต่างๆ, ผู้ควบคุมงาน, ช่างก่อสร้าง ก็ล้วนแต่อาศัยแบบก่อสร้างเป็นเครื่องมือสำคัญทั้งสิ้น
ผังพื้นเป็นการแสดงภาพตัดทางแนวนอน โดยแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับรูปร่าง, ขนาด, พื้นที่ใช้สอย, โครงสร้าง, การก่อสร้าง และวัสดุก่อสร้าง โดยแสดงออกมาในลักษณะของสัญลักษณ์, เส้น, ตัวเลข, ตัวอักษรประกอบกันเพื่อสื่อความหมาย
การ เขียนผังพื้น
แนวตัด และวิธีการเขียนผังพื้น โดยทั่วไปนิยมตัดที่ประมาณความสูง 1.20 ม. จากระดับพื้นภายใน ซึ่งก็ไม่ใช่เป็นระดับในการตัดที่ตายตัว แท้จริงแล้วสิ่งที่ต้องการสื่อถึงก็คือส่วนที่เป็น Solid, Void ทั้งหมด ซึ่งก็คือเหนือวงกบล่างของหน้าต่าง นั่นเอง
ในการเขียนแบบแปลน 1 ภาพนั้น อาจจะเป็นการตัดด้วยระนาบที่ความสูงไม่เท่ากัน เช่นโดยทั่วไปตัดที่ระดับ 1.20 ม.แต่เมื่อตัดผ่านผนังส่วนที่มีหน้าต่าง หรือที่อยู่สูง (เช่นห้องน้ำ) ก็จะขยับไปตัดผ่านหน้าต่างนั้น โดยสรุปก็คือในการเขียนแบบแปลนควรจะแสดงหน้าต่าง และช่องแสงทั้งหมดไม่ว่าจะตั้งอยู่ที่ความสูงเท่าใดก็ตาม
เมื่อเคลื่อนย้ายส่วนที่ถูกตัดออกไปแล้ว มองตั้งฉากลงมาที่พื้นตามหลักการเขียนภาพฉาย ภาพตัด ก็จะเห็นขอบเขต และการจัดพื้นที่ทั้งชั้น
-แบบก่อสร้างต้องแสดงผังพื้นให้ครบทุกชั้น มีส่วนที่เชื่อมโยงกันอยู่คือ เสา บันได ช่องลิฟต์ ช่อง Shaft ต่างๆ
-บันได และระดับของพื้นที่ต่างกันต้องมีลูกศรชี้ทิศทางขึ้นลงเสมอ
-มีตัวเลขกำกับแสดงระดับของพื้นในแต่ละส่วน
-มีตัวอักษรบอกชื่องาน และมาตราส่วนที่ใช้กำกับเสมอ
-มีเครื่องหมายกำกับแสดงทิศ
-มีเส้น และเครื่องหมายแสดงแนวตัด และทิศทางการมองรูปด้าน
เพื่อให้ได้ผลสัมฤทธิ์สมบูรณ์ในการทำงานผลิตแบบสถาปัตยกรรม มีองค์ประกอบสำคัญ ในการการกำหนดผัง, รายละเอียดต่างๆ สถาปนิก, ผู้เขียนแบบ ต้องมีองค์ความรู้ ความเข้าใจ รวมทั้งต้องพิจารณา ทบทวน ตัดสินใจให้รอบคอบอยู่เสมอ ในการกำหนดรายละเอียดที่ปรากฎในการสร้างสรรงานสถาปัตยกรรมนั้น อันได้แก่
1. รูปแบบการใช้สอย และหน้าที่ที่ต้องการ (Function), รูปทรง, ลักษณะของอาคาร
2. วัสดุ และอุปกรณ์ที่นำมาใช้ (Materials)
3. โครงสร้างอาคาร ความแข็งแรง (Structure)
4. กรรมวิธี และขั้นตอนในการก่อสร้าง (Construction)
5. อื่นๆ เช่น ระบบงานอาคารต่างๆ (Building System), กฏหมายที่เกี่ยวข้อง
ใน แปลน และรูปตัด จะใช้ลักษณะวิธีการเน้นส่วนที่ถูกตัดเป็นหลัก (Cutting Plane Technique) ซึ่งต่างกับการเขียนรูปด้านซึ่งใช้เทคนิคเน้นองค์ประกอบหลัก (Major Feature Technique) เมื่อเราทำความเข้าใจในความแตกต่างของส่วนที่ถูกตัด และไม่ถูกตัดแล้วก็จะเป็นการนำไปสู่ความถูกต้องของการใช้ (ตั้งค่า) ของการเขียนแบบส่วนประกอบต่างๆ ของอาคารได้ในการเขียนแปลน ระนาบตัดจะตัดผ่านโครงสร้างที่อยู่ทางตั้งทั้งหมด ได้แก่ หน้าตัดเสา ผนัง วงกบตั้งของประตูหน้าต่าง จะถูกเน้นด้วยเส้นที่หนักกว่าเส้นทั่วไป
จึงอาจกล่าวได้ว่าเป็นการจำเป็นที่ผู้ที่ศึกษาในสาขาสถาปัตยกรรมจำเป็นที่จะต้องศึกษา ลักษณะวิธีและมาตรฐานในการเขียนแบบ รวมทั้งฝึกฝนให้มีประสบการณ์ ความชำนาญ ในการเขียนแบบ เพื่อที่จะถ่ายทอดสิ่งที่เราซึ่งเป็นผู้ออกแบบ ได้นำองค์ความความรู้ มากำหนดเป็น ผัง, รายละเอียด (Detail) ต่างๆ เพื่อที่จะได้ถ่ายทอดความคิดการตัดสินใจเพื่อให้นำไปใช้งานได้จริง ตามวัตถุประสงค์ของผู้ออกแบบ มิฉะนั้นหากเราไม่รู้ ไม่เข้าใจในวิธีการอ่านแบบ และเขียนแบบแล้ว สาระสื่อสำคัญในแบบก่อสร้างก็อาจจะตกไปอยู่ใต้อำนาจตัดสินใจของช่างเขียนแบบโดยสิ้นเชิง ซึ่งก็อาจจะทำให้มีข้อผิดพลาด หรือขาดตกบกพร่องได้อยู่มาก เนื่องจากเราไม่รู้ไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงวิธีในการถ่ายทอดความคิดออกมาในเชิงการเขียนแบบ
เนื่องจากการเขียนแบบนั้นเป็นภาษาสากลที่มีมาตรฐานที่ใช้กันอยู่ร่วมกัน ไม่ว่าจะใช้วิธีใด ทั้งการเขียนแบบด้วยมือ หรือการใช้ Software ประเภท CAD (Computer-aided Design) ผู้เขียนแบบก็จะต้องใช้ความพยายามในการทำให้ เส้น, สัญลักษณ์ และการตั้งค่าต่างต่างๆ ถูกต้องตามมาตรฐานการเขียนแบบมิใช่ปล่อยละเลยไปตามค่าเริ่มต้น (Default) ของโปรแกรม
โปรแกรมต่างๆ เป็นเพียงเครื่องมือในการทำงานให้มีความสะดวกรวดเร็วขึ้น แต่เนื้อหาสาระสำคัญยังต้องอาศัยความรู้ ความเข้าใจในพื้นฐานการเขียนแบบ และความเข้าใจในเรื่องโครงสร้าง การออกแบบ วัสดุ อุปกรณ์ตามที่ได้กล่าวมาแล้วการเรียนรู้ในการใช้งานเทคโนโลยีประเภท CAD ต่างๆ สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งนอกจากการสร้างภาพ 2 มิติ หรือ 3 มิติ แล้วนั้น ลักษณะของเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ โดยพื้นฐานจะเหมาะสมกับการทำซ้ำ, การทำซ้ำบางส่วน, การจัดระบบ จัดเก็บและจำแนกข้อมูล การคำนวณขั้นสูง การเก็บและนำไปใช้ใหม่ รวมทั้งระบบวิธีในการทำงานร่วมกัน (Share & Collaboration) การเผยแพร่ และส่งต่อข้อมูล นักศึกษาจึงควรศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมในการทำงานเพื่อเพิ่มศักยภาพของตนเองต่อไป
No comments:
Post a Comment